Rhyme เสียงสัมผัสที่กลายเป็นเพลง

Rhyme ไรม เป็นคำนาม หมายถึง เสียงสัมผัสในบทกวี คำที่มีเสียงคล้องจอง หรือบทกวีที่มีเสียงคล้องจอง เสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาไทยคือการพูดอะไรให้ฟังดูคล้องจองกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกลอนในวรรณคดี การบ่นเรื่องต่างๆ ลงสเตตัสเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่มุกเสี่ยวจีบสาว เดี๋ยวนี้พูดอะไรก็ต้องเป็นคำคล้องจองกันไปหมด ในภาษาอังกฤษเองก็มีคำคล้องจองเช่นกัน แต่ส่วนมากจะเจอคำคล้องจองกันในกลอนหรือพวกคำคมปลุกใจต่างๆ

Rhyme มีกี่ประเภท

Perfect rhyme หรือ Exact rhyme

คือคำคล้องจองแบบเป๊ะๆ แท้ๆ ที่ต่างกันแค่เสียงพยัญชนะต้นเท่านั้น แต่เสียงสระ ตัวสะกด ตำแหน่งสเตรสเสียงหนัก หรือแม้แต่จำนวนพยางค์ก็เท่ากันเป๊ะๆ ด้วย เช่น pie กับ die, bean กับ green, sky กับ high, skylight กับ highlight จะเห็นว่าแต่ละคู่มีจุดที่ต่างกันคือเสียงพยัญชนะต้นเท่านั้น แต่ที่เหลือเหมือนกันเป๊ะๆ

Identical rhyme

คือคำคล้องจองที่ทุกอย่างเหมือนกันหมดทั้งเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ ตัวสะกด และตำแหน่งสเตรสเสียงหนัก ตัวอย่างที่เช่นชัดคือพวกคำพ้องเสียง เช่น site กับ sight, raise กับ rays, holy กับ wholly, farrow กับ pharoah, air กับ heir จะเห็นว่าทุกคู่ออกเสียงเหมือนกันทุกจุดเลย ถ้าอยู่ๆ ได้ยินคนพูดคำเดียวลอยๆ ก็จะต้องลังเลแน่ๆ ว่าจะสะกดออกมายังไงดี

Masculine rhyme หรือ Single rhyme

คือคำคล้องจองที่ดูแค่พยางค์สุดท้ายของคำเป็นคำที่ลงเสียงหนัก และมีเสียงสระและตัวสะกดเหมือนกัน เช่น reduced กับ produced (duced คล้องจองกัน และลงเสียงสเตรสหนักเหมือนกัน) หรือ rare กับ despair (rare กับ -spair คล้องจองกัน และลงเสียงสเตรสหนักเหมือนกัน)

Feminine rhyme หรือ Double rhyme

คือคำคล้องของที่มักเป็นคำสุดท้ายของบรรทัดและมักมีสองพยางค์ขึ้นไป โดยที่พยางค์สุดท้ายไม่ลงเสียงหนัก งงล่ะสิ เช่น

          But since she prick’d thee out for women’s pleasure,

          Mine be thy love and thy love’s use their treasure.

               –Sonnet number 20 – William Shakespeare–

  • ส่วนที่เป็นคำคล้องจองคือ pleasure กับ treasure ซึ่งตรงพยางค์หลังที่เป็น -sure นั้นไม่ได้ลงเสียงหนักด้วยกันทั้งคู่

Eye rhyme

คือคำคล้องจองที่คล้องกันเฉพาะแค่ตาเห็น แต่เวลาออกเสียงจริงๆ ไม่คล้องกันเลย เช่น love กับ move จากหน้าตามันดูน่าจะคล้องจองกัน แต่เสียงจริงๆ กลับเป็นคนละเรื่อง หรือแม้แต่ชื่อของนักแสดงดัง Sean Bean ก็ถือเป็น eye rhyme เช่นกัน

Assonance rhyme

คือคำคล้องจองที่ไม่ค่อยจะคล้องจองกันซะทีเดียวเพราะมันเหมือนกันแค่เสียงสระ แต่พยัญชนะต้นและเสียงตัวสะกดต่างกัน เช่น shake กับ hate, dip กับ limp

Consonant rhyme

คือคำคล้องจองที่ไม่ค่อยจะคล้องจองกันซะทีเดียวเช่นเดียวกัน แต่ส่วนที่เหมือนกันคือเสียงพยัญชนะต้นและเสียงตัวสะกด แต่เสียงสระต่างกัน เช่น rabies กับ robbers, limp กับ lump

ABAB rhyme scheme หรือ Alternate rhyme

เป็นรูปแบบกลอนที่ค่อนข้างมาตรฐานและเจอได้บ่อยมากๆ  มีลักษณะก็คือ 1 บทมี 4 บรรทัด และคำสุดท้ายของแต่ละบรรทัดจะคล้องจองกันแบบบรรทัดเว้นบรรทัด ถ้างงก็ดูตัวอย่างข้างล่างเลยจ้า

          Roses are red.               – A

          Violets are blue.            – B

          The others are dead.     – A

          I only have you.            – B

จะเห็นว่าคำสุดท้ายของแต่ละบรรทัด คล้องจองกันแบบบรรทัดเว้นบรรทัด ซึ่งก็คือ red คล้องจองกับ dead ส่วน blue คล้องจองกับ you เราจึงเรียกว่าแบบ ABAB เพราะมันคล้องแบบสลับบรรทัดกันนั่นเอง ส่วนเรื่องจำนวนคำในแต่ละบรรทัดนั้นไม่มีกำหนดตายตัวว่าต้องมีกี่คำ แต่ว่าในกลอนบทนั้นๆ ควรมีจำนวนคำพอๆ กันในแต่ละบรรทัด อย่าต่างกันเกินไป ส่วนถ้าจะแต่งเป็นเรื่องยาวๆ มีหลายๆ บท ก็สลับคำคล้องจองแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยดูแค่ของบทใครบทมัน ไม่ต้องไปดูบทก่อนหน้า ก็จะได้เป็น ABAB CDCD EFEF แบบนี้ไปเรื่อยๆ

ABBA rhyme scheme หรือ Enclosed rhyme

ถ้าจับทางจากรูปแบบเมื่อกี้ได้แล้ว ก็น่าจะเดาได้แล้วว่า ABBA หมายความว่าคำสุดท้ายของบรรทัดที่ 1 คล้องจองกับคำสุดท้ายของบรรทัดที่ 4 ในขณะที่คำสุดท้ายของบรรทัดที่ 2 และ 3 คล้องจองกันเอง ก็จะออกมาเป็น

          Roses are pink.            – A

          I’ll buy them for you.    – B

          If you want me too.      – B

          Give me a wink.           – A

ABCB rhyme scheme หรือ Simple 4-line

เป็นอีกรูปแบบร้อยกรองที่ค่อนข้างง่ายค่ะ เพราะไม่ต้องกังวลถึงเรื่องจำนวนคำและการลงเสียงหนักเบาในแต่ละบรรทัด แต่จะเน้นแค่ความคล้องจองของคำสุดท้ายในแต่ละบรรทัดมากกว่า เช่นเดียวกับกลอน 2 รูปแบบที่แนะนำไปแล้ว แถมกลอนรูปแบบนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมของนักแต่งเพลงและนักแต่งนิทานเด็กด้วยนะ

          I want to have breakfast.    – A

          Because I’m so hungry.       – B

          I didn’t eat last night.          – C

          So my stomach is empty.     – B

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.dek-d.com

https://www.thairath.co.th

https://www.rapisnow.com